วินเนลล์คอร์ปอเรชั่น "เราฝึกคนให้ลั่นไกปืน"




คนไทยส่วนมากอาจไม่รู้จักบริษัทนี้ นั่นเพราะเป็นบริษัทที่ทำงานแบบที่แตกต่างกับบริษัททั่วๆไป แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีน้อยมากมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในบริษัท และเป็นความภูมิใจเล็กๆ ที่ได้เข้าร่วมงานกัน ต่อมาพนักงานไทยส่วนหนึ่งได้ออกมาจากบริษัท และจากนั้นอีกไม่กี่ปีก็เกิดสงครามอ่าว รบกับอิรัค วินเนลล์ก็มีส่วนในการสนับสนุนการรบครั้งนั้นด้วย หลังจากเสร็จสิ้นสงครามไม่กี่ปี พวกเราคนไทยก็ทะยอยออกมาจนหมด

เล่าเบื้องหลังของบริษัทนี้ให้ฟังพอเป็นพื้น เพื่อที่บางคนอาจยังไม่รู้ว่าไปทำงานอยู่กับบริษัทที่มีความเป็นมาอย่างไรให้รับทราบ วินเนลล์คอร์ปได้ก่อตั้งขึ้นโดย นาย เอ. เอส. วินเนลล์เมื่อปี 1931 ในตอนแรกที่เริ่มงานคือการก่อสร้างถนนในลอส แอนเจลิส จากนั้นก็ได้เข้ามารับงานโปรเจ็คใหญ่ๆในประเทศ พร้อมๆกับรับงานจากรัฐบาล และบริษัทได้ดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับ ซีไอเอ ให้คนของซีไอเอ เข้ามาทำงานในบริษัทเพื่อบังหน้าในการทำงาน อย่างเช่นการปฏิบัติการในอาฟริกาและตะวันออกกลาง ในการตอบแทน ซีไอเอ ก็ได้ช่วยให้บริษัทวินเนลลให้ชนะในการได้รับการประมูลก่อสร้างต่างๆในโครงการของบริษัทน้ำมันในลิเบียและอิหร่าน งานด้านตะวันออกก็ได้รับสัมปทานงานก่อสร้างโครงการใหญ่ในการปฏิบัติการให้กับกองทัพอเมริกันในโอกินาวา ที่ญี่ปุ่น ได้รับงานซ่อมบำรุงเครื่องบินรบของกองทัพอากาศที่เกาะกวมในช่วงปี 1950 และได้ส่งกำลังคนและเครื่องมือต่างๆเข้าไปในสนามรบในสงครามเกาหลี ซึ่งเรายังได้เห็นว่ามีชาวเกาหลีเข้ามาทำงานในบริษัทอยู่ส่วนหนึ่ง ประวัติการทำงานร่วมกันกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐและซีไอเอ ของวินเนลล์นั้นมีมายาวนาน นับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองเลยทีเดียว ตั้งแต่การส่งสัมภาระไปให้กับกองกำลังทหารของประธานาธิบดีเจียงไคเช็คของจีน เรื่อยมาจนถึงการก่อสร้างสนามบินทางการทหารในปากีสถาน,ใต้หวัน เวียดนาม และแม้กระทั่งประเทศไทย วินเนลล์ก็ได้เข้ามาสร้างสนามบินให้ด้วย ในช่วงสงครามเวียดนามนั้น บริษัทวินเนลล์ได้เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในการทหารและการสืบราชการลับต่างๆ ยามที่บริษัทรุ่งเรืองสุดๆ มีการว่าจ้างคนงานถึง 5,000 คนเลยทีเดียว ในหน้าฉากที่ทำงานเกี่ยวกับงานซ่อมบำรุงเครื่องไม้เครื่องมือทางทหารและการก่อสร้าง แต่นายทหารที่เข้ามาดูแลบริษัทวินเนลล์ได้กล่าวว่า บริษัทได้ทำงานลับๆอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ในเพ็นตากอนเองก็ได้ให้นิยามของวินเนลล์ไว้ว่า “เป็นกองกำลังทหารรับจ้างเล็กๆของเราเองในเวียดนาม” นี่คือย่อๆแล้วครับ และถ้าให้ยาวๆละก็ทุกคนจะร้องอ๊ากเลยละครับ ว่าการเมืองเข้ามาเล่นกับแบบไหน และจะเข้าใจเรื่องการเมือง การทหารและการเข้าไปตักตวงผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น

เดี๋ยวนี้บริษัทมีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองแฟร์แฟกส์ รัฐเวอร์จิเนีย ได้เปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นของบริษัทมาตลอดเวลา การถือหุ้นของบริษัทนับว่าโยงใยเกี่ยวเนื่องกันมาก รวมทั้งนักการเมือง อย่างเช่น เจมส์ เอ. เบเก้อร์ ที่3, แฟรงค์ คาร์ลุคซี่ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ บุชผู้พ่อ และในรัฐบาลของประธานาธิบดี โรนัล เรแกน

แต่ที่สำคัญที่สุดของการได้รับสัมปทานของการทหารก็คือ การที่เพ็นตากอนช่วยให้บริษัทได้รับชัยชนะในการประมูลงานที่จะฝึกทหารจำนวน 75,000 นายให้กับกองกำลังรักษาประเทศ ซึ่งเป็นกำลังทหารที่สืบเชื้อสายมาจากนักรบของชาวพื้นเมืองเบดูอิน ผู้ซึ่งช่วยเหลือราชวงศ์ในการรบและครอบครองคาบสมุทร์อเรเบียจากศตวรรษที่แล้ว

จากบทความของนิวสวีคในการอธิบายถึงการพยายามในการรวบรวมหาคนมาทำงานให้กับบริษัทซึ่งก็ได้รับการช่วยเหลือจาก อดีตนายทหารยศพันเอกตาเดียว ชื่อพันเอก เจมส์ ดี. ฮอลแลนด์ ในสำนักงานเล็กๆในลอส แองเจลลิส นอกเมืองอัลฮัมบรา ว่ากันว่าไปรวบรวมเอาทหารที่ผ่านการรบจากสงครามเวียดนามมา เพื่อที่จะฝึกกองกำลังรักษาประเทศของซาอุดิ อเรเบีย ในการจะป้องกันบ่อน้ำมัน ซึ่งแม้แต่ เฮนรี่ คิสซิงเกอร์ครั้งหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่าสักวันสหรัฐเองคงจะเข้าไปยึดเอา

เกี่ยวกับรูปลักษณ์ของวินเนลล์ ซึ่งมีรายชื่ออยู่ในลำดับของการเป็นทหารรับจ้าง เคยมีอดีตนายทหารผู้หนึ่งกล่าวเอาไว้ว่า เราไม่ได้เป็นทหารรับจ้าง เพราะว่าเราไม่ได้เป็นผู้ลั่นไกปืนเอง เราฝึกคนให้ลั่นไก ดังนั้น อาจเรียกเราว่าพวกเราเป็นทหารรับจ้างระดับผู้บริหาร แต่ก็มีเป็นบางครั้งที่ระดับผู้ฝึกของวินเนลล์เองต้องลงไปปฏิบัติการเอง เกินเลยไปจากผู้บริหาร อย่างเช่นเมื่อปี 1979 เมื่อมีผู้ก่อความไม่สงบและเข้าไปยึดมัสยิดที่เมกกะ มีรายงานว่าครูฝึกของวินเนลล์ได้อยู่ในเหตุการณ์ปราบปรามครั้งนั้นด้วย และหลังจากสงครามรบกับอิรักไม่นาน วินเนลล์เองก็มีชื่อขึ้นข่าวหน้าหนังสือพิมพ์อีก เมื่อมีผู้ก่อการร้ายเข้าไปวางระเบิดตรงตึกที่พักของพนักงาน ที่เราเรียกกันว่า “ไฮไร้ซ” ส่งผลให้บริษัทวินเนลล์ถูกจับตามองจากคนทั้งโลก การโดนระเบิดของวินเนลล์ทำให้มีคำถามเกี่ยวกับการแปรรูปบทบาทของนโยบายต่างประเทศของอเมริกาหรือเปล่า เพราะการระเบิดวินเนลล์นั้นเท่ากับเป็นการส่งจดหมายส่งสารตรงไปถึงวอชิงตันเลยทีเดียว

นั่นคือเรื่องราวของบริษัทวินเนลล์อย่างย่อๆ.....เพื่อนๆที่เคยอยู่ในบริษัทคงจะจำภาพเก่าๆของพวกเราได้ เดินเข้าไปรับประทานอาหารด้วยกันตอนตี 4 กลับมาหาข้าวเที่ยงตอนบ่าย และไม่อยากเดินเข้าโรงอาหารตอนเย็นสักเท่าไหร่ เพราะมัวติดพันเอาลูกบิลเลียดลงหลุมอยู่ในพูลรูม พวกที่อยู่ในวิลล่าต่างๆที่โอลีย่าก็หาอาหารรับประทานกันเอง สนุกสนานกันตามห้องเพื่อนๆ มีอาหารไทยขายกันเอง ตั้งวงเสี่ยงดวงนับแต้มลูกเต๋ากัน จนตึกมีชื่อเสียงโด่งดัง มีคนเรียกกล่าวขานถึง “ตึกนรก” นั่นก็คือ วิลล่าเอ็ช

ผมได้เห็นเพื่อนวิลเนลล์ครั้งแรกตอนที่ผมทำงานอยู่กับบริษัท เซฟ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทก่อสร้างเล็กๆ อยู่ที่นาซะริย่า ใกล้ๆกับสนามบินริยาร์ด (สนามบินเดิม) ซึ่งก็ไม่ไกลจากโอลิย่า นึกแปลกใจว่ามีคนไทยแต่งตัวกึ่งๆทหาร เพราะผมได้เข้าไปซื้ออาหารที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ข้างล่างของวิลล่าวาย และเมื่อได้กลับไปทำงานที่ซาอุ อเรเบียอีกครั้งผมก็สมัครเข้าทำงานในปี 1980 ยิ่งแปลกใจเข้าไปอีกตอนที่เข้าบริษัทครั้งแรก เห็นรถถัง วี-150 จอดอยู่ข้างๆบริษัท แต่ก็เข้าใจในตอนหลังว่า ก่อนหน้านั้นเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นที่เมคกะ และวินเนลล์ก็มีส่วนในการปราบผู้ก่อความไม่สงบในครั้งนั้นด้วย

ผมได้รวบรวมรายชื่อเพื่อนๆจากรายชื่อเดิมที่ได้มาจากคุณมานพ นพรัตน์ ตอนที่คุณมานพมาทำงานช่วงสั้นๆที่อุดร และได้รับฟังจากเพื่อนๆหลายๆคนว่า ถ้ามีเรื่องสอบถามถึงเพื่อนๆที่เคยทำงานก็ให้ลองไปถามกับ คุณสมศักดิ์ นิจกิจชีว์ ทำให้ผมซึ้งใจและเข้าใจว่า “เรา” เคยอยู่ร่วมสุข ร่วมทุกข์กันในต่างดินแดน “ไม่เคยลืมกัน” แน่นอนว่า การที่อยู่ร่วมกันนานนับ ปีๆ มากกว่าเด็กที่เจอกันในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย เพราะได้เจอกันในช่วงสั้นๆ แต่เรานี่ กิน-อยู่ด้วยกัน ย่อมมีความผูกพันธ์กันมากกว่า ผมโทรหา สมทบ พรมจรูญ, แซม สมศักดิ์ น้อยนวล, สมศักดิ์ (ไผ่)พเยียสวัสดิ์, สนิท อยู่เถา คุยแบบตื่นเต้นกันเลย ดีใจ ที่ได้ถามหาใครๆกัน คนนั้นคนโน้น ไม่ต้องนับ ประวิทย์ วงศ์พานิชเพราะนี่คุยกันอยู่เรื่อยๆ.....และถ้ามีเพื่อนคนไหนที่ไม่มีอยู่ในรายชื่อ ช่วยบอกผมมาด้วย ผมจะเอาใจใส่ เอามาลงในรายชื่อให้หมด และถ้าใครมีรูป ฝากรูปมาได้เลยครับ โพสต์ลงเฟซบุ๊กก็ได้ครับ ผมจะคัดลอกเอามาลงในเว็บทีหลัง